สำนักงานกฎหมาย

นพนภัส

ทนายความเชียงใหม่

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๓๕๒ ผู้ใดครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานยักยอก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

วรรคสอง ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556 จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2716/2554 การที่ อ. ผู้เสียหายตกลงให้จำเลยเอารถกระบะที่ผู้เสียหายทำสัญญาเช่าซื้อมาไปใช้โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อ โดยมีข้อตกลงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยว่า จำเลยจะเป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย หลังจากจำเลยได้รับมอบการครอบครองรถกระบะจากผู้เสียหายแล้ว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยพารถกระบะหลบหนีไปขายแก่บุคคลภายนอก หรือแอบอ้างว่าเป็นรถกระบะของตนเอง ด้วยการปฏิเสธว่าไม่ได้รับมอบรถกระบะจากผู้เสียหายแต่อย่างใด แต่จำเลยครอบครองใช้รถกระบะนั้นโดยเปิดเผยและได้ชำระค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหายเรื่อยมาจำนวนถึง 5 งวดติดต่อกันต่อมาจำเลยค้างส่งค่างวดจึงได้มอบรถกระบะให้ ช. โดยทำความตกลงกับ ช. ให้ ช. เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรวมทั้งที่จำเลยรับเงินมัดจำจาก ช. ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 5,000 บาท และในสัญญาระบุว่าจำเลยและ ช. ซื้อขายรถยนต์ (รถกระบะ) นั้น ยังมิใช่การเอารถกระบะทรัพย์สินของผู้ให้เช่าซื้อไปขายแต่เป็นเพียงการโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. โดยมีข้อตกลงให้ ช. มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าซื้อต่อไป เพราะจำเลยประสงค์จะหาบุคคลอื่นมาช่วยรับภาระในการผ่อนค่าเช่าซื้อในนามของผู้เสียหาย จำเลยจึงมิได้เบียดบังเอารถกระบะดังกล่าวเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริต ไม่เป็นเหตุทำให้การกระทำของจำเลยที่ไม่เป็นความผิดกลับกลายเป็นความผิดไปแต่อย่างใด

การที่จำเลยโอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อให้แก่ ช. แม้จะมิได้รับความยินยอมจากผู้ให้เช่าซื้อก็มีผลในทางแพ่งเพียงว่า ผู้ให้เช่าซื้อยังคงมีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างจากผู้เสียหายผู้เช่าซื้อเดิมได้ต่อไป รวมทั้งเรียกค่าเสียหายในการที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจติดตามยึดรถกระบะคืนจากจำเลยได้ จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานยักยอก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11294/2553 หลังจากทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้ผู้เสียหายเพียง 2 งวดแล้วไม่ชำระค่าเช่าซื้ออีกเลย และจำเลยนำรถที่เช่าซื้อไปตีใช้หนี้ให้แก่ผู้อื่นโดยจำเลยทราบอยู่แล้วว่ารถที่เช่าซื้อยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้เสียหาย เมื่อ จ. ไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อแต่จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่ให้ความร่วมมือ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเบียดบังเอาทรัพย์ของผู้เสียหายที่อยู่ในครอบครองของจำเลยไปโดยทุจริต จึงเป็นความผิดฐานยักยอก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2552 จำเลยยักยอกรถที่เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยโดยตรง ดังนั้น แม้ผู้เช่าซื้อจะแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานยักยอกในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อก็ตาม ก็ถือได้ว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะเป็นผู้เสียหายเองด้วยเช่นกัน ผู้เช่าซื้อย่อมมีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ในฐานะที่เป็นผู้เสียหายด้วยคนหนึ่งได้

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14802/2558 โจทก์อุทธรณ์ว่า เมื่อโจทก์ได้ให้เช่าซื้อทองรูปพรรณแก่จำเลยแล้ว กรรมสิทธิ์ในทองรูปพรรณดังกล่าวยังคงเป็นของโจทก์ ส่วนจำเลยคงมีสิทธิครอบครองและใช้ประโยชน์เท่านั้น การที่จำเลยนำทองรูปพรรณไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต ถือได้ว่าจำเลยเบียดบังทองรูปพรรณของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตแล้ว แม้ จ. เบิกความว่า จำเลยตกลงจะเอาทองรูปพรรณของโจทก์มาคืนหรือจะนำเงินมาชดใช้ค่าเสียหายก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องการกระทำที่เกิดขึ้นหลังจากความผิดยักยอกได้เกิดขึ้นสำเร็จแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการบรรเทาผลร้ายให้ได้รับการลงโทษทางอาญาน้อยลงเท่านั้น หาใช่เป็นการตกลงจะชดใช้ค่าเสียหายในทางแพ่งแล้วผิดสัญญากันไม่ ดังนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวไม่ได้โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมา แต่โต้เถียงว่าการที่จำเลยนำทองรูปพรรณที่เช่าซื้อจากโจทก์ไปขายให้แก่บุคคลภายนอกโดยโจทก์ไม่ได้อนุญาต เป็นการเบียดบังเอาทรัพย์ของโจทก์ไปเป็นของตนเองหรือผู้อื่นโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอกแล้ว มิใช่เป็นการผิดสัญญาทางแพ่ง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4181/2542 จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหายมีหน้าที่จำหน่ายสินค้า ให้แก่ลูกค้าแล้วนำเงินมามอบให้ผู้เสียหาย จำเลยรับสินค้าไปจากผู้เสียหายแล้ว มิได้นำไปจำหน่ายแก่ลูกค้า แต่นำไปจำนำ และขายฝาก เป็นการเบียดบังทรัพย์สินของผู้อื่นที่อยู่ในความครอบครอง ของจำเลยโดยทุจริต ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะเป็นลูกจ้าง ผู้เสียหายหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยครอบครองทรัพย์ ของผู้เสียหายแล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปโดยทุจริต จำเลยย่อม มีความผิดฐานยักยอกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรกฎีกาของจำเลยที่ว่า พนักงานของผู้เสียหายไม่มีเงินเดือน แต่จะได้รับรายได้จากค่าคอมมิชชั่นของการขายและเปอร์เซ็นต์ จากการขายเป็นรายเดือน จำเลยจึงไม่ใช่ลูกจ้างผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นั้น จึงไม่เป็นสาระสำคัญ แก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2528 ผู้เสียหายจำนำทรัพย์สินของตนไว้กับจำเลยโดยกำหนดเวลา ไถ่คืนไว้พ้นกำหนดเวลาไถ่คืนแล้ว ผู้เสียหายไปขอไถ่คืน จำเลยว่าจำนำขาดและนำทรัพย์ไปขายแล้วการกระทำของจำเลย ดังนี้เป็นการขาดเจตนากระทำความผิดฐานยักยอก